หลายคนเข้าใจว่า ‘จิตแพทย์’ นั้น มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แล้วถ้าเราอยากพบจิตแพทย์ คนอื่น ๆ จะว่าเรา ‘เป็นบ้า’ ไหมนะ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘จิตแพทย์’ มีหน้าที่อย่างไร รักษาอาการอะไรได้บ้าง แล้วอาการแบบไหนถึงจะเรียกว่า ‘บ้า’ อาการที่หลายคนต้องเผชิญอยู่เรียกว่า ‘บ้า’ หรือเปล่านะ ?
.
จิตแพทย์ คือ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่เข้ามารับการรักษานั้นมีความหลากหลายมาก บางคนอาจจะมีอาการทางจิตที่ผิดปกติชัดเจน เช่น อาการหูแว่ว หวาดระแวง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าท้อแท้ จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต ขณะที่บางคน อาจมีภาวะเครียด นอนไม่หลับ หรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตบางอย่าง
.
พบจิตแพทย์ = บ้า?
Schizophrenia หรือ โรคจิตเภท เป็นโรคความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงและเรื้อรัง ส่งผลต่อการพูด การคิด การรับรู้ ความรู้สึก และการแสดงออกของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ อย่างประสาทหลอน พูดคนเดียว หลงผิด ปลีกตัวจากสังคม หรือไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ คนส่วนใหญ่มักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘คนวิกลจริต’ หรือ ‘คนบ้า’
.
แต่ในความเป็นจริง มีโรคทางจิตเวชอีกหลายโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไปและบุคคลเหล่านั้นยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ พึ่งพาตนเองได้ สาเหตุของโรคนั้นผู้ประสบปัญหาอาจได้รับผลกระทบบางอย่างจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ครอบครัว การเรียน การทำงาน และสังคม หรืออาจเป็นความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกายและความผิดปกติของการหลั่งสารบางชนิดในสมอง ทำให้มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ เช่น
นอนไม่หลับ ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่มีสมาธิ หลงลืม หดหู่ หมดความหวัง จนบางครั้งถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอยากฆ่าตัวตาย
อันเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคแพนิค หรือโรคสมองเสื่อม ซึ่งการรักษาอาการเหล่านี้เหมือนจะเป็นอาการทางใจที่ใช้การปรึกษาบำบัดก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง การรักษาอาจต้องใช้ ‘ยา’ ทางการแพทย์ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตรวจสอบ รักษา และดูแลสุขภาพด้านนี้ให้กับคนไข้ ก็ต้องเป็น ‘จิตแพทย์’ นั่นเอง
.
สรุป คือ พบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า ‘บ้า’ นะคะ เมื่อรู้ตัวว่าเกิดความผิดปกติขึ้น รู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ก็ควรจะต้องพบคุณหมอ เพราะถ้าสาเหตุมาจากความผิดปกติการหลั่งสารในสมองจริง ๆ หละก็ รู้เร็ว รักษาเร็ว หายเร็วค่ะ ^^
.
เครียดแค่ไหน ต้องพบแพทย์ ???
การใช้ชีวิตในสังคมทุกวันนี้ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่ายมาก ทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตและทำงานอย่างมาก บางคนอาจเครียดโดยไม่รู้ตัว สะสมไปเรื่อย ๆ จนเกิดความผิดปกติขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวและไม่รู้วิธีรับมือ เราจึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของสภาพร่างกายและจิตใจของเราอยู่เสมอ
.
สัญญาณเตือนด้านอารมณ์
มีความทุกข์ใจ ซึมเศร้า กังวลตลอดเวลา
มีอารมณ์หงุดหงิดมากผิดปกติ
รู้สึกเครียดตลอดเวลา แม้แต่ในทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้า
.
สัญญาณเตือนด้านความคิด
เนื้อหาความคิดผิดเพี้ยนไปจากเดิม
ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ
หลงลืมสิ่งต่าง ๆ มากกว่าผิดปกติ
การตัดสินใจช้าลงหรือการแก้ไขปัญหาไม่ได้
ได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพที่ผู้อื่นไม่เห็น
มีความคิดทำร้ายตนเอง และความคิดว่ามีคนมาปองร้าย ความคิดฟุ้งซ่าน
.
สัญญาณเตือนด้านพฤติกรรม หรือ ด้านร่างกาย
ปล่อยตัว ไม่ดูแลตัวเองจนสภาพร่างกายทรุดโทรม
นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินปกติ
เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากเกินปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว
ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยมากขึ้น ใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด
ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มากขึ้น
.
อาการเหล่านี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นที่จะช่วยประเมินอาการของเราได้ หากเรารู้ตัวได้เร็ว โรคเหล่านี้ก็จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวเลย นอกจากความผิดปกติของตัวเองแล้ว ลองสังเกตอาการของคนรอบข้างด้วยนะคะ บางคนไม่รู้ตัวเองเลยว่ากำลังพบเจอกับโรคเหล่านี้อยู่ หลายครั้งที่คนรอบข้างกลายเป็นคนที่สังเกตเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนมากกว่าเจ้าตัวเสียอีก พากันไปพบแพทย์ เยียวยารักษาความเจ็บปวดให้สุขภาพกายและใจแข็งแรงกันนะคะ 💓
สายด่วนสุขภาพจิต 📞 1323
.
References :
https://med.mahidol.ac.th/psych/th/content/04112013-0823-th
https://www.pobpad.com/schizophrenia-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97
https://www.manarom.com/blog/see_psychiatrist.html
Related Content :